15
สถานที่ท่องเที่ยวตำบลหนองบัว
ถ้ำวังพระยาพิชัยสงคราม
ถ้ำวังพระยาพิชัยสงคราม
ถ้ำวังพระยาพิชัยสงครามเป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยงดงามตามธรรมชาติ เป็นสถานที่แห่งใหม่ที่สวยงามมากของจังหวัดตรังตั้งอยู่ที่บ้านในวัง หมู่ที่ 4 ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง เป็นหมู่บ้านป่าต้นน้ำ (คลองปาง) โดยได้รับธงพระราชทานอาสาสมัครพิทักษ์ป่า พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท จากสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ฯ เมื่อ ปี พ.ศ. 2543 ถ้ำวังพระยาพิชัยสงคราม อยู่รอยต่อเขตแดนระหว่างจังหวัดตรังกับจังหวัดนครศรีธรรมราช มีลำคลองไหลลอดผ่านออกมาจากถ้ำเรียกว่าคลองปาง ซึ่งมีแหล่งต้นน้ำอยู่ที่หมู่ที่ 6 (ปลายวา) ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง และลำคลองนี้เป็นเขตแดนกั้นระหว่างจังหวัดตรังกับจังหวัดนครศรีธรรมราช สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบสูงมีภูเขาล้อมรอบติดกับเทือกเขาบรรทัด อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีราษฎรอาศัยอยู่ จำนวน 37 ครัว เรือน ราษฎรส่วนใหญ่เป็นคนที่มีถิ่นฐานเดิมมาจากอำเภอ ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและสวนผลไม้เช่น เงาะ มังคุด ลองกอง เป็นต้น
ประวัติความเป็นมา
ถ้ำวังพระชาพิชัย สงคราม จากประวัติความเป็นมาจากการสันนิษฐานและจากการเล่าสืบทอดกันมาว่า สมัยกรุงรัตนโกสิทร์ตอนต้นมีการปกครองแบ่งเป็นหัวเมืองต่างๆ ซึ่งต้องขึ้นต่อเมืองหลวงและทางเมืองหลวงจะส่งพ่อเมืองไปปกครองยังเมืองขึ้นเหล่านี้ สำหรับหัวเมืองทางใต้มีเมืองนครศรีธรรมราชเป็นพ่อเมือง เพราะตอนนั้นเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองใหญ่ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของหัวเมืองทางใต้ มีท่าเทียบเรือ ประกอบกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมีกำลังพลที่เข้มแข็ง ถ้าหากเมืองใดคิดจะแข็งข้อ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็จะรายงานไปทางเมืองหลวง (กรุงรัตนโกสินทร์) ทราบเพื่อมีคำสั่งให้นำกองทัพไปปราบกับหัวเมืองที่คิดกบฏทันที่ เช่น เมืองไทรบุรีสมัยนั้นถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชนำกำลังพลไปตีจนแตกพ่ายแล้ว จึงแต่งตั้งทายาทเป็นผู้ปกครองต่อไป และแม้กระทั่งเมืองพัทลุงก็เช่นกันที่คิดจะแข็งข้อก็ถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชสั่งการให้ “พระพิชัยสงคราม”หรือ มาตนุชิต สิทธิสงคราม เป็นผู้นำกองทัพไปปราบเมืองพัทลุง ระหว่างการเดินทางได้นำกองทัพเข้าพักแรมเรื่อยๆ จนกระทั่งเดินทางมาถึง “ถ้ำวังพระยาพิชัย” หรือ “ บ้านในวัง “ก็พักแรมที่นั้น เนื่องจากเป็นแหล่งที่ใกล้กับแม่น้ำ (สมัยก่อนการเดินทางกองทัพต้องอาศัยแม่น้ำเป็นหลัก เพราะสะดวกต่อการหุงหาอาหาร และเมื่อจะเดินทางต่อต้องทุบหม้อหรืออุปกรณ์สำหรับหุงอาหาร เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามทราบจำนวนกำลัง) และเมื่อนำกองทัพไปตีหัวเมืองพัทลุงได้แล้วเดินทางกลับก็ได้นำกองทัพมาพัก ณ ถ้ำวังพระยาพิชัยอีกครั้ง มีการฉลองชัยชนะและให้กำลังพลจัดทำเสาธงรูปหงส์ ปักไว้เพื่อเป็นการบอกความหมายของกองทัพสมัยนั้น ต่อมาชาวบ้านได้ขนานนามบ้านในวังแห่งนี้ว่า “ถ้ำวังพระยาพิชัยสงคราม”
ป้ายถ้ำพระยาพิชัยสงคราม
สภาพทั่วไป
ถ้ำวังพระยาพิชัยสงครามเป็นสถานที่ที่มีธรรมชาติสวยงามอยู่ท่ามกลางขุนเขาล้อมรอบ และแมกไม้ใหญ่น้อยนานาพันธุ์ มีน้ำไหลลอดผ่านออกมาจากถ้ำผ่านชะง่อนหิน ซึ่งมีแมกไม้หลายชนิดขึ้นอยู่มากมาย ภายในถ้ำจะมีสะพานทอดเข้าไปชมได้ ด้านบนก็จะมีธรรมชาติที่สวยงามอย่างชนิดที่หาดูได้ยากจากสถานที่อื่น คือ เมื่อดูขึ้นไปด้านบนก็จะมีหน้าผาคล้ายเพดานถ้ำทะลุผ่านและมีแมกไม้ขึ้นเรียงราย สวยงามมาก สามารถปีนขึ้นไปชมธรรมชาติด้านบนได้ สายน้ำที่ไหลผ่านก็ใสสะอาดสีเขียวใสมรกต มองเห็นฝูงปลาน้อยใหญ่แหวกว่ายไปมา บริเวณด้านนอกก็จะเป็นแอ่งน้ำเหมาะสำหรับนั่งพักผ่อนหรือลงเล่นน้ำ มีร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำสะอาดและบริเวณสำหรับนั่งพักผ่อน ดื่มและรับประทานอาหารได้นอกจากนั้นยังมีเรือพาย และอุปกรณ์สำหรับลงเล่นน้ำ (ห่วงล้อ) ไว้คอยบริการ มีสถานที่จอดรถและเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย มีบริการที่พักแบบโฮมสเตย์
การเดินทาง
การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับถ้ำพระพุทธ เลี้ยวซ้ายเข้าบ้านในวัง (ทางหลวงหมายเลข 4151 ) ไป 3 กิโลเมตร (การเดินเที่ยวชมถ้ำต้องลุยน้ำและควรมีไฟฉายติดตัว)
- ถ้ามาจากจังหวัดตรัง มาตามถนนสายตรัง-ทุ่งสง ถึงสี่แยกเลี้ยวขวามาตามถนนสายบ่อล้อ- ลำทับ ประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะมีทางแยกเข้าถ้ำวังพระยาพิชัยสงคราม เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร
- ถ้ามาจากจังหวัดตรัง เลี้ยวซ้ายตามถนนสายบ่อล้อ ประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร
- ถ้ามาจากจังหวัดพัทลุง ชะอวด เลี้ยวซ้ายเข้าทางสี่แยกควนหนองหงส์ ประมาณ 25 กิโลเมตร เลี้ยวขวาทางแยกเข้าถ้ำวังพระยาพิชัยสงครามประมาณ 3 กิโลเมตร
2. วัดถ้ำพระพุทธ
“วัดถ้ำพระพุทธ” นั้นนับว่าเป็นวัดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 บ้านถ้ำพระพุทธ ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฏา จังหวัดตรัง เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เกี่ยวข้องต่ออารยธรรมโบราณ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจด้วย ซึ่งเดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดถ้ำพระ” ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2464 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดถ้ำพระพุทธ”เนื่องจากภายในมีพระพุทธรูปปางต่างๆ จำนวนมากมาย ที่ได้ก่อสร้างขึ้นไว้บริเวณที่หน้าถ้ำ รวมทั้งพระนอนขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันได้มีการก่อสร้างศาลาครอบถ้ำเอาไว้ เพื่อรักษาพระพุทธรูปไม่ให้เสื่อมสลายไปก่อนเวลาอันควร
ประวัติความเป็นมา
วัดแห่งนี้ เกิดขึ้นสมัยที่ “พระนางเลือดขาว”พระมเหสีของเจ้าผู้ปกครองเมืองพัทลุง ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ได้ทราบข่าวการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์พระยากุมาร หรือพระธาตุจังหวัดตรัง จึงได้นำเอาพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ได้มาจากชมพูทวีปเช่น ประเทศอินเดีย ประเทศพม่า และประเทศจีน เดินทางมาพร้อมด้วยไพร่ฟ้าราษฏรที่เลื่อมใส เพื่อนำสิ่งของมีค่าเหล่านี้ไปถวายเป็นพุทธบูชา โดยได้ออกเดินทางจากจังหวัดพัทลุง ด้วยขบวนช้างกว่า 60 เชือก ทั้งนี้การเดินทางต้องผ่านช่องป่าและหุบเขาด้วยความยากลำบาก กระทั่งขบวนเดินทางมาพักในสถานที่ซึ่งมีภูเขาล้อมรอบ และตั้งอยู่ใกล้เขตนครบุรี คือ บ้านน้ำตก และบ้านหนองบัว
จากนั้นคณะได้หยุดขบวนและได้น้ำทรัพย์สินที่มีค่าส่วนหนึ่งเก็บไว้ภายในถ้ำ แล้วได้ปั้นพระพุทธรูปนอนปิดไว้บริเวณหน้าปากถ้ำ พร้อมๆ กับการก่อสร้างวัด โดยมีไพร่ฟ้าที่ติดตามมาบวชเป็นพระประจำอยู่ในวัดแห่งนี้ 5 รูป และตามบันทึกในสมุดข่อยยังทราบว่า “พระนางเลือดขาว” นั้น ยังได้ก่อสร้างวัดระหว่างที่เดินทางอีกจำนวน 7 วัดด้วยกัน รวมทั้ง “วัดถ้ำพระพุทธ” ซึ่งคาดว่าประมาณ พ.ศ. 1110 และคาดว่าช่างที่ปั้นพระพุทธรูปน่าจะเป็นชาวท้องถิ่น เนื่องจากพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมานั้นเป็นปางเทริดมโนราห์
“พระครูสถิตธรรมมานุกุล” เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระพุทธ เล่าว่า ภายในวัดเมื่อครั้งอดีตนั้นได้พบวัตถุโบราณเป็นจำนวนมากมาย เช่น พระพุทธรูปหยก ถ้วย ชาม ขัน ฆ้อง ซึ่งปัจจุบันทางวัดก็ได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี รวมทั้งเตาเผาซึ่งใช้ในการหล่อหลอมภาชนะต่างๆ และองค์พระพุทธรูปด้วย อีกจำนวน 8 เตา แต่ที่น่าแปลกก็คือเตาเผาดังกล่าวจะไม่เปียกน้ำ แม้ว่าฝนจะตกลงมาใส่ก็ตาม โดยสิ่งของมีค่าทุกอย่าง ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุโบราณไว้แล้ว
เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระพุทธเล่าอีกว่า แม้วัดจะถูกพัฒนาขึ้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ละเลยในการสืบทอดคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ยังมีประชาชนเดินทางเข้ามาทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนากันเป็นจำนวนมาก
สภาพทั่วไป
บริเวณปากถ้ำมีพระนอนองค์ใหญ่ตั้งอยู่บนภูเขา และพระยืนทรงเครื่องประดับพระเศียรด้วยเทริด (เครื่องประดับศีรษะ รูปมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้าอย่างมโนราห์) นอกจากนั้นภายในพระอุโบสถของวัดยังมีสมบัติเครื่องใช้ของคนชั้นสูง เช่น เครื่องลายคราม เครื่องถมทอง เครื่องปั้นเก่าแก่ ส่วนที่มาของสมบัติสูงค่าเหล่านี้และประวัติความเป็นมาของวัดเก่าแก่นี้ยังไม่กระจ่างชัด
โบราณวัตถุวัดถ้ำพระพุทธ
การเดินทาง
การเดินทางเข้าไปยังวัดถ้ำพระพุทธนั้น จะต้องอ้อมไปทางพื้นที่ตำบลน้ำตก อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากสถานที่ตั้งวัดอยู่ในบริเวณหุบเขา จึงไม่สามารถเดินทางไปโดยตรงจากจังหวัดตรังได้ แต่เนื่องจากเส้นทางคมนาคมมีความสะดวกสบาย ส่วนบริเวณวัดก็ยังมีสถานที่จอดรถกว้างขวางสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจจะเดินทางไปเยี่ยมชม ทำให้มีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแวะเวียนมาเยือนอย่างไม่ขาดสาย การเดินทางจากบ้านกะปางเลี้ยวขาวเข้าสู่เส้นทางอำเภอชะอวด ประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงสามแยก เลี้ยวขวาอีกประมาณ 7 กิโลเมตร
รูปภาพพระนางเลือดขาววัดถ้ำพระพุทธ
3. วัดถ้ำวังหมู
วัดถ้ำวังหมู
ถ้ำวังหมู ตั้งอยู่ที่บ้านหนองศรีจันทร์ หมู่ที่ 5 ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ถ้ำวังหมูอยู่รอยต่อเขตแดนระหว่างจังหวัดตรังกับจังหวัดนครศรีธรรมราช มีลำคลองไหลลอดผ่านออกมาจากถ้ำ เรียกว่าคลองปาง ซึ่งมีแหล่งต้นน้ำ อยู่ที่หมู่ที่ 6 (ปลายวา) ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง และลำคลองนี้ใช้เป็นเขตแดนกั้นระหว่างจังหวัดตรังกับจังหวัดนครศรีธรรมราช
จุดเช็คอินวัดถ้ำวังหมู
ประวัติความเป็นมา
ในอดีตชาวบ้านละแวกบ้านหนองศรีจันทร์มีอาชีพทำไร่ หาสัตว์เป็นอาหาร เพราะสมัยนั้นพื้นที่ยังเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่ามากมาย การล่าสัตว์ต่างๆ นั้น จะทำกันเกือบทุกวัน แต่ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ก็จะทำกันตามฤดูกาล เช่น การล่าเก้งหรือกวางมักทำในฤดูฝน แต่ถ้าเป็นหมูป่ามักจะล่ากันในช่วงเกี่ยวข้าวไร่ เพราะหมูป่ามักจะมากินข้าวในไร่ของชาวบ้าน การล่าจะใช้ปืนแก๊ปซึ่งเป็นปืนที่ชาวบ้านผลิตขึ้นมาเอง ปืนชนิดนี้มีประสิทธิภาพไม่ดีพอประกอบกับหมูป่าเป็นสัตว์ที่อดทนมาก บางครั้งหมูป่าที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนได้หนีไปหลบอยู่ในหุบเขาแห่งหนึ่ง เมื่อหลายครั้งชาวบ้านก็ตามรอยเท้าหมูป่าไปด้วย ชาวบ้านก็จะได้หมูป่าในหุบเขานั้นเป็นประจำ ระยะหลังชาวบ้านมักจะต้อนหมูป่าให้ไปในหุบเขานั้น เพราะมีทางเข้าทางเดียว หากต้อนเข้าไปในหุบเขานั้น ชาวบ้านมักจะได้หมูป่าเกือบทุกครั้ง ชาวบ้านจึงเรียกหุบเขานั้นว่า “วังหมู” ประกอบกับในหุบเขานั้นเป็นที่ที่มีน้ำขังบางส่วนจึงใช้คำว่า “วัง” ติดปากไปด้วย
พระพุทธรูปในถ้ำวังหมู
สถาพทั่วไป
ใกล้ๆ กับวังหมูนั้นจะมีถ้ำขนาดใหญ่อยู่ 2 ถ้ำ ถ้ำแรกมีขนาดกว้างและยาวมาก มีความยาวประมาณ 1700 เมตร มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก ถ้ำนี้มีสายน้ำคลองปางไหลผ่านทั้งปี ภายในถ้ำมีค้างคาวหลายแสนตัว และมีขี้ค้างคาวจำนวนมาก เป็นที่น่าท่องเที่ยวศึกษาชมธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง ปากถ้ำซึ่งเป็นทางเข้ามีหินย้อยลงมาจากเพดานถ้ำมีลักษณะคล้ายหมูนอนอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ถ้ำวังหมู” ด้วยอีกถ้ำซึ่งมีทางเข้าอยู่ในบริเวณวัดวังหมู ขึ้นไปข้างบนจะมีสามชั้น แต่ละชั้นมีความงดงามของหินงอกหินย้อยมากมาย ในถ้ำที่สามนี้มีช่องลงไปติดต่อกับถ้ำวังหมูข้างล้างและมีลมพัดผ่าน
หินงอกหินย้อยในถ้ำวังหมู
การเดินทาง
- ถ้ามาจากจังหวัดตรัง มาตามถนนสายตรัง-ทุ่งสง ถึงสี่แยกเลี้ยวขวามาตามถนนสายบ่อล้อ-ลำทับ ประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะมีทางแยกเข้าถ้ำวังหมู เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร
- ถ้ามาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช เลี้ยวซ้ายตามถนนสายบ่อล้อ ประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร
- ถ้ามาจากจังหวัดพัทลุง,ชะอวด เลี้ยวซ้ายเข้าทางสี่แยกควนหนองหงส์มาประมาณ 25 กิโลเมตร เลี้ยวขวาทางแยกเข้าถ้ำวังหมูประมาณ 5 กิโลเมตร
4. ถ้ำนาคราช
ป้ายถ้ำนาคราช
อยู่ที่บ้านหน้าเขา หมู่ที่ 4 ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความกว้างประมาณ 20 เมตร สูง ประมาณ 40 เมตร ยาว 3000 เมตร นับว่าเป็นถ้ำน้ำลอดที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ถ้ำนาคราช ชื่อเดิม ชาวบ้านเรียกวังนาคราช ต่อมาชาวบ้านเปลี่ยนชื่อเป็นถ้ำนาคราช ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวังพระยาพิชัยสงคราม เชื่อกันว่าถ้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีนาคราชอาศัยอยู่ มีการสำรวจโดยหม่อนหลวงอัมพร ณ อยุธยา นายอำเภอห้วยยอด เมื่อประมาณปี พ.ศ.2499 มีระยะทางยาวประมาณ 3 กิโลเมตร
ภาพภายในถ้ำนาคราช
ประวัติความเป็นมา
ตำนานและคำเล่าลือ เรื่องถ้ำนาคราช ด้วยชาวบ้านได้พบเจองูขนาดใหญ่ภายในถ้ำอยู่บ่อยๆ ขดตัวเป็นชั้น และเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2534 ผู้ใหญ่ธรรมรัตน์ ชื่นเดช ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันได้เล่าว่าขณะนั้นตนเองอายุ 15-16 ปีวิ่งเล่นกับเพื่อน เกิดตกลงไปในหลุมใหญ่ พบเจองูขนาดใหญ่เท่าต้นหมากสีดำ มีหงอนสีแดง ชูคอขึ้นมองตน ด้วยความตกใจตนก็ไม่กล้าขยับ ต่างตนต่างจ้องมองกัน จนงูเลื้อยลงไปในคลองที่ไหลลงถ้ำนาคราช
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2554 มีชาวบ้านสองคนสามีภรรยา ชื่อนายวิเชียร กับนางสุดา ได้ไปนั่งเบ็ดตกปลาปากถ้ำนาคราช ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงคลื่นน้ำดังออกมาจากในถ้ำใกล้เข้ามาหาตน ทั้งสองตกใจและยกมือขึ้นไหว้และบอกจะไม่มานั่งตกปลาที่นี้อีก และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาชาวบ้านก็ไม่กล้ามาตกปลาบริเวณนั้นอีกเลย
สภาพทั่วไป
สำหรับในถ้ำนาคราช มีแร่เหล็ก แร่ดีมาไทม์ หินงอกหินย้อยที่สวยงาม นอกจากนี้ยังมีค้างคาวเป็นล้านๆตัว ประกอบด้วยสองพันธุ์ เป็นพันธุ์หน้าหมา พันธุ์นี้จะมีเขี้ยวไม่มีฟัน กินแมลงทุกชนิดเป็นอาหาร และพันธุ์หน้ายักษ์ จะมีฟันไม่มีเขี้ยว ส่วนถ้ำแบ่งออกเป็นสองโซน โซนด้านบนต้องเดินด้วยเท้าไม่มีน้ำประกอบด้วยหินงอกหินย้อยที่แบ่งเป็นห้องๆ แตกต่างกัน และสวยงามมากเหมือนเมืองบาดาล โซนด้านล่างเป็นน้ำ ต้องนั่งเรือคายักล่องเข้าไปและบางช่วงน้ำตื้นต้องเดิน มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม
การเดินทาง
การเดินทางไปยังถ้ำนาคราช ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 403 (ตรัง-ทุ่งสง) ออกจากจังหวัดตรังถึงอำเภอรัษฏา ระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง 4 ช่องจราจร หรือใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม จากตรังผ่านอำเภอห้วยยอด เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 403 ถึงอำเภอรัษฎา ระยะทาง 50 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง 2 ช่องทางจราจร